ข่าวประชาสัมพันธ์ สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร
กทม. เตรียมแผนพร้อมรับสถานการณ์น้ำท่วม
สถานการณ์น้ำท่วม กทม. มีจุดเสี่ยงน้ำท่วมหลายพื้นที่ในกรุงเทพฝั่งตะวันออก ทั้ง 9 เขต โดยเฉพาะ 4 เขตอาจจะได้รับผลกระทบมาก คือ เขตหนองจอก เขตคลองสามวา เขตลาดกระบัง และ เขตมีนบุรี อย่างไรก็ตาม ต้องรอการประเมินต่อเนื่องจนถึงในช่วงปลายเดือนนี้ ที่จะเป็นช่วงที่มีปริมาณน้ำฝนมาก ประกอบกับมีน้ำทะเลหนุนสูงด้วย
ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แถลงข่าวสถานการณ์น้ำท่วมและการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยกรุงเทพมหานคร ณ ศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยกรุงเทพมหานคร (ห้องเจ้าพระยา) ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมย่อย โดยใช้พื้นที่ศาลาประชาคมในเขตมีนบุรี จัดตั้งเป็นศูนย์ให้ความช่วยเหลือ จากประชาชนใน 4 เขตพื้นที่ตะวันออก ได้แก่ เขตลาดกระบัง มีนบุรี หนองจอก คลองสามวา โดยมอบหมาย นายทวีศักดิ์  เดชเดโช รองปลัด กทม. เป็นผู้ดูแล ส่วนประชาชน 27 ชุมชนนอกแนวคันกั้นน้ำ กทม.เตรียมโรงเรียนฝึกอาชีพของ กทม.10 แห่งไว้รองรับ จัดกำลังเจ้าหน้าที่ นักสังคมสงเคราะห์คอยดูแล ทั้งนี้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ แสดงความเป็นห่วงว่า จากนี้ไป กทม. อาจได้รับผลกระทบเพราะจะมีฝนตกเพิ่มขึ้นระดับน้ำทะเลที่จะสูงขึ้นและน้ำเหนือที่ลงมาถึง โดยจะต้องจับตาดูแลพื้นที่ตลอด 24 ชั่วโมง โดยเฉพาะระหว่างวันที่ 16-18 ตุลาคมนี้ ที่น้ำทะเลหนุนสูง ประกอบกับจะมีฝนตกลงมาในพื้นที่ ส่วนกระสอบทรายที่ขณะนี้เริ่มขาดแคลนเนื่องจากทรายหายากและมีราคาแพง  ล่าสุดมีประชาชนได้บริจาคทรายมาปริมาณ 12,000 คิว  ซึ่งจะนำทรายจำนวนนี้นำไปช่วยเหลือประชาชน 4 เขต ด้านฝั่งตะวันออก  ยืนยัน ณ วันนี้ยังสามารถบริหารจัดการน้ำได้  แต่ไม่ได้นิ่งนอนใจและประเมินสถานการณ์แบบวันต่อวัน โดยสามารถโทรสอบถาม หรือแจ้งขอความช่วยเหลือ ทุกเรื่อง ทุกปัญหา ศูนย์ กทม. 1555 ตลอด 24 ชั่งโมง
สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร (สนพ.) : นพ.สราวุฒิ สนธิแก้ว ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ เชิญประชุมด่วนหารือเพื่อเตรียมแผนเฝ้าระวังและเตรียมรับมือสถานการณ์น้ำท่วมในเขตกรุงเทพมหานคร พร้อมคณะผู้บริหารในสังกัดฯ เมื่อวันที่ 10 ต.ค. 54 เวลา 09.00 น. ณ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร

นพ.สราวุฒิ กล่าวว่า ได้เตรียมแผนให้มีการจัดตั้งหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ทางบกของโรงพยาบาลในสังกัดสำนักการแพทย์ทั้ง 8 แห่ง เพื่อเข้าแจกยาสามัญประจำบ้าน นอกจากนั้นยังได้เตรียมเรือพยาบาลฉุกเฉินที่จะเข้าช่วยเหลือผู้ป่วยในพื้นที่น้ำท่วม พร้อมทีมแพทย์ และรถพยาบาลฉุกเฉินจากศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉิน กทม. (ศูนย์เอราวัณ) พร้อมเครือข่าย ประมาณ 150 คัน พร้อมปฏิบัติการตลอด 24 ชั่วโมง อีกทั้งสำรองเตียงและสถานที่ไว้รองรับเพื่อดูแลอย่างใกล้ชิดใน 8 โรงพยาบาล